รับสาหัส! หั่นเป้าผลิตรถรอบสอง ทั้งปีรวมแล้ว 4 แสนคัน เหลือ 1.5 ล้านคัน ทรุดทั้งใน-ตปท.

2024-11-25 HaiPress

ส.อ.ท.รับอุตฯยานยนต์ปีนี้สาหัส หั่นเป้าผลิตรถยนต์อีกรอบปีนี้รวมแล้ว 4 แสนคัน เหลือแค่ 1.5 ล้านคัน หลังยอดขายในประเทศทรุดจากพิษหนี้พุ่ง แบงก์ปล่อยกู้ยาก ขณะที่ยอดส่งออกร่วงทุกตลาด เหตุสงครามยืดเยื้อ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ยานยนต์เดือนต.ค. ปี 67ว่า ได้ปรับประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 67 ลงอีก 200,000 คัน จาก 1.7 ล้านคัน เหลือ 1.5 ล้านคัน เป็นการปรับลดลงจากผลิตขายในประเทศจาก 550,000 คัน เป็น 450,000 คัน และการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1.15 ล้านคัน เป็น 1.05 ล้านคัน ถือเป็นการปรับลดลงครั้งที่ 2 จากรอบแรกปรับไปแล้ว 200,000 คัน เท่ากับว่า ปีนี้ปรับลดลงถึง 400,000 คัน จากเป้าหมายแรกตั้งแต่ต้นปีตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน เนื่องจากยอดขายในประเทศปรับลดลง จากการเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ตลาดส่งออก ลดลงทุกตลาดเช่นกัน จากผลกระทบสงครามอิสราเอลกับฮามาสขยายมากขึ้น อาจจะส่งผลกระทบการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวน้อยลง โดยต้องจับตาตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และยุโรปเป็นพิเศษ รวมทั้งความขัดแย้งที่ต้องติดตามแบบไม่กะพริบตา ที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกคือสงครามยูเครนกับรัสเซีย ที่อาจขยายไปประเทศอื่น ยอมรับว่า  สถานการณ์รถยนต์บ้านเรา ค่อนข้างสาหัส  ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป  

“ยอมรับว่า สถานการณ์รถยนต์บ้านเรา น่าเป็นห่วงมาก ที่ผ่านมาเราปรับเป้าผลิตลดลงไปแล้วครั้งหนึ่ง ปรับเฉพาะยอดผลิตในประเทศจาก 750,000 คัน เป็น 550,000 คัน ลดลงมาแล้ว 200,000 คัน ยังยืนเป้าผลิตเพื่อส่งออกที่ 1.15 ล้านคัน แค่ครั้งนี้สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จึงต้องปรับเป้าหมายอีกรอบ”

ส่วนยอดผลิตได้ในเดือนตุลาคม 2567 มีทั้งสิ้น 118,842 คัน ลดลง 25.13% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 7% และผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 51.7% ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,246,868 คัน ลดลง 19.28% โดยเฉพาะรถกระบะขนาด 1 ตัน เดือนตุลาคม 2567 ผลิตได้ทั้งหมด 70,514 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2566 ร้อยละ 27.83 และตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2567 ผลิตได้ทั้งสิ้น 757,709 คัน เท่ากับร้อยละ 60.77 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 ร้อยละ 22.33

โดยแบ่งเป็น ส่วนผลิตเพื่อส่งออก เดือนตุลาคม 2567 ผลิตได้ 87,741 คัน เท่ากับ 73.83% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนตุลาคม 2566 7% ส่วนเดือนมกราคม-ตุลาคม 2567 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 861,916 คัน เท่ากับ 69.13% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ระยะเวลาเดียวกัน 4.69%

ด้านผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนตุลาคม 2567 ผลิตได้ 31,101 คัน เท่ากับร้อยละ 26.17 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนตุลาคม 2566 ร้อยละ 51.70 และเดือนมกราคม-ตุลาคม 2567 ผลิตได้ 384,952 คัน เท่ากับร้อยละ 30.87 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 ร้อยละ 39.89

รถยนต์นั่ง เดือนตุลาคม 2567 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 20,294 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2566 ร้อยละ 29.14 แต่ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 ผลิตได้ 217,383 คัน เท่ากับร้อยละ 45.84 ของยอดการผลิตรถยนต์นั่ง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 ลดลงร้อยละ 25.22

ด้านยอดขายถยนต์ภายในประเทศของเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 37,691 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2567 จำนวน 36.08% ต่ำสุดในรอบ 54 เดือน นับตั้งแต่ยกเลิกล็อกดาวน์จากการระบาดโควิด-19 เดือนพฤษภาคม 2563 จากการเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงินเป็นหลัก ส่งผลให้จำนวนบัญชีผู้กู้ซื้อรถยนต์ในไตรมาสสามมี 6,365,571 บัญชี ลดลงจากไตรมาสสอง 75,377 บัญชี เท่ากับ 1.2% และลดลงจากไตรมาสสามปี 2566 จำนวน 199,655 บัญชี หรือร้อยละ 3.0 จำนวนเงินหนี้รถยนต์ไตรมาสสาม 2,465,204 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสสองร้อยละ 2.8 และลดลงร้อยละ 5.8 จากไตรมาสสามปี 2566 รถบรรทุกลดลงจากเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอ่อนแอเติบโตในอัตราต่ำและหนี้ครัวเรือนสูง ดัชนีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่ำที่ร้อยละ 0.1 ในไตรมาสสาม

ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนตุลาคม 2567 ส่งออกได้ 84,334 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 5.08 แต่ลดลงจากเดือนตุลาคม 2566 ร้อยละ 20.23 ส่งออกลดลงเพราะฐานสูงในเดือนเดียวกันของปี 2566 ที่ส่งออกถึง 105,726 คัน ส่งผลให้ส่งออกลดลงทุกตลาด ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ที่สงครามอิสราเอลกับฮามาสขยายมากขึ้น อาจจะส่งผลกระทบการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวน้อยลง อีกทั้งความขัดแย้งที่ต้องติดตามแบบไม่กะพริบตา ที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกคือสงครามยูเครนกับรัสเซีย ที่อาจขยายไปประเทศอื่น ซึ่งกระทบการส่งออกรถยนต์และสินค้าอื่นๆ เดือน ม.ค.-ต.ค. 2567 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 853,221 คัน ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกัน 8.02%

มูลค่าการส่งออกรถยนต์ 588,790.48 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 จำนวน 0.53%

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา