เปิดสาระสำคัญ มติ ครม.ปรับลด-ยกเว้นเก็บภาษีที่ดิน 3 ฉบับ ใครได้ประโยชน์บ้าง

2024-12-18 IDOPRESS

เปิดสาระสำคัญ ครม.มีมติลดภาษีที่ดิน ในร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ฉบับ

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … จำนวน 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … จำนวน 2 ฉบับ ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. ร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (โรงผลิตน้ำประปา)

1.1 หลักการและเหตุผล: กิจการผลิตน้ำประปาเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการลดภาษีเช่นเดียวกับกิจการสาธารณูปโภคสำคัญอื่น เช่น การผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

1.2 สาระสำคัญ: ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 50 ให้แก่ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงผลิตน้ำประปาและโรงผลิตน้ำประปา ทั้งนี้ ให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการผลิตน้ำประปา โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

1.3 ผลที่คาดว่าจะได้รับ: ช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ดินฯ และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาให้แก่กิจการผลิตน้ำประปา ทั้งในส่วนที่ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน และกิจการประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อันจะเป็นการส่งเสริมการดำเนินกิจการผลิตน้ำประปาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการลดภาษีกรณีโรงผลิตไฟฟ้าและเขื่อนที่ใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน

2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (พื้นที่สีเขียว)

2.1 หลักการและเหตุผล: ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวเข้าข่ายเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพซึ่งจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง จึงทำให้ที่ผ่านมามีผู้ปรับเปลี่ยนที่ดินที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมเพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง ทั้งนี้ พื้นที่สีเขียวดังกล่าวมีคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการช่วยลดปัญหาการกัดเซาะดินและชายฝั่ง

2.2 สาระสำคัญ: ยกเว้นภาษีให้แก่พื้นที่สีเขียว โดยกำหนดให้ที่ดินที่จะได้รับยกเว้นภาษีจะต้องเป็นที่ดินซึ่งปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก และมีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดำรงชีวิต หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ตลอดปีภาษี ดังนี้ 1) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ในประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตรจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เฉพาะโครงการที่สอดคล้องกับระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจประเภทปลูกป่าและฟื้นฟูป่า

หรือ 2) เป็นป่าชายเลน โดยมีรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประกาศกำหนด ทั้งนี้ ที่ดินที่เข้าข่ายได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะต้องไม่มีการใช้หาผลประโยชน์ เว้นแต่เป็นการขาย หรือการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

2.3 ผลที่คาดว่าจะได้รับ: ช่วยลดปัญหาการแผ้วถางพื้นที่สีเขียว สนับสนุนการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวโดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561–2580 แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับปรับปรุง) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มและพัฒนาพื้นที่สีเขียว ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ตลอดจนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ทางรถไฟฟ้า)

3.1 หลักการและเหตุผล: ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการพัฒนารถไฟฟ้าจำนวน 14 เส้นทาง ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลหรือ M-Map (พ.ศ. 2553–2572) ของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทางรถไฟฟ้าเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐที่สำคัญ ซึ่งการบรรเทาภาระภาษีของทางรถไฟฟ้าในปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับกิจการขนส่งทางรางประเภทอื่น

3.2 สาระสำคัญ: แก้ไขปรับปรุงนิยามของคำว่า “ทางรถไฟฟ้า” โดยเพิ่มคำว่า “ห้องอุปกรณ์อาณัติสัญญาณภายในสถานี ห้องควบคุมระบบบังคับสัมพันธ์ภายในสถานี ห้องอุปกรณ์สื่อสารภายในสถานี และชานชาลาสถานีเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ผู้โดยสารรอเพื่อขึ้นหรือลงจากรถไฟฟ้า” เพื่อให้ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

3.3 ผลที่คาดว่าจะได้รับ: ช่วยบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบกิจการการรถไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย อปท. และรัฐวิสาหกิจรวมจำนวนทั้งสิ้น 3 ราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมทั้งสอดคล้องกับการบรรเทาภาระภาษีให้แก่กิจการขนส่งทางรางประเภทอื่น

ประชาชนที่สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดการลดหรือยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมได้เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวให้ อปท. ทราบ เพื่อให้ อปท. สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2568 ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา