เปิดมาตรการ ‘แบงก์ชาติ’ ป้องกันภัยคุกคามการเงิน บนโมบายแบงก์กิ้ง

2025-02-10 HaiPress

ประกาศราชกิจจานุเบกษา ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดมาตรการป้องกันภัยการเงินบนโมบายแบงก์กิ้ง สกัดภัยคุกคามทางไซเบอร์

วันที่ 10 ก.พ. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ๔/๒๕๖๘ เรื่อง การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการทางการเงินและการชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ สำหรับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา

ตามประกาศฉบับนี้ ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) มีบทบาทสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการให้บริการทางการเงินและการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินแก่ผู้ใช้บริการที่เป็นบุคคลธรรมดาบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (บริการ Mobile Banking) ที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันการให้บริการ Mobile Banking ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber threat) และภัยทุจริตทางการเงิน (fraud) ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและใช้เทคนิควิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้น อันอาจสร้างความเสียหายต่อผู้ใช้บริการในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงินของประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันภัยทุจริตดังกล่าว จึงได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการทางการเงินและการชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อยกระดับการให้บริการ Mobile Banking ให้มีมาตรฐานขั้นต่ำที่จำเป็น

มาตรการป้องกันภัยการเงินบนโมบายแบงก์กิ้ง ดังนี้

1.การป้องกันการสวมรอยทำธุรกรรม แทนผู้ใช้บริการ (Unauthorized Payment Fraud)

2.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของบริการ Mobile Banking คือการป้องกันการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการ สถาบันการเงินต้องมีการป้องกันการสวมรอยทำธุรกรรมแทนผู้ใช้บริการโดยอย่างน้อยต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

งดเว้นการแนบลิงก์ผ่านช่องทางข้อความสั้น (SMS) และช่องทางอีเมล แต่สำหรับกรณีช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ให้สถาบันการเงินงดแนบลิงก์เฉพาะที่มีการขอข้อมูลในการยืนยันตัวตน หรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน รหัสใช้ครั้งเดียว (one time password – OTP) รหัส PIN หมายเลขบัตรประชาชนชน วันเดือนปีเกิด เพื่อป้องกันการสวมรอยเป็นสถาบันการเงิน การขอให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ (sodal engineering) หรือการถูกติดตั้ง mobile malware

อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินสามารถแนบลิงก์ผ่านทั้ง 3 ช่องทางดังกล่าวได้หากผู้ใช้บริการดำเนินการร้องขอเอง โดยสถาบันการเงินสามารถแนบลิงก์ได้เป็นรายครั้ง พร้อมทั้งต้องมีการสื่อสารย้ำให้ผู้ใช้บริการทราบว่าการส่งลิงก์ดังกล่าวเป็นกรณีเฉพาะตามคำร้องขอของผู้ใช้บริการเป็นรายครั้งเท่านั้น

มีกระบวนการติดตามและรับมืออย่างทันการณ์ต่อแอปพลิเคชันที่ปลอมแปลง หรือแอบอ้างเป็นแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินที่ให้บริการ Mobile Banking ในแพลตฟอร์มที่เป็นทางการของผู้ให้บริการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน (official app store)


เช่น Google Play Store Apple App Store รวมทั้งมีกระบวนการรับมือและตอบสนองอย่างเหมาะสมและทันการณ์สำหรับแอปพลิเคชันปลอมแปลงที่อยู่นอกแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะหลงเชื่อและเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ถูกติดตั้ง malware หรือถูกติดตั้งแอปพลิเคชันปลอบจำกัดการใช้บริการ Mobile Banking ของผู้ใช้บริการไว้เพียง 1 บัญชีผู้ใช้งานต่อ 1 บริการ Mobile Banking ของแต่ละสถาบันการเงิน และจำกัดการใช้บริการดังกล่าว โดยให้ใช้งานบน 1 อุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการเท่านั้นต้องจัดให้มีกระบวนการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการเพิ่มเติมในขั้นตอนการทำธุรกรรมผ่านบริการ Mobile Banking บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดย ใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (face comparison) ร่วมกับการตรวจจับการปลอมแปลงชีวมิติ (presentation attack detection)ที่สามารถป้องกันการใช้รูปภาพ วิตีโอ หรือการปลอมแปลงชีวมิติในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น การใช้ เทคโนโลยี liveness detection เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้บริการเป็นผู้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง ซึ่งต้องจัดให้มีกระบวนการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการเพิ่มเติมดังกล่าวอย่างน้อยในกรณี ดังต่อไปนี้

-การทำธุรกรรมโอนเงินในแต่ละครั้งมีมูลค่าตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป หรือ การทำธุรกรรมโอนเงินมูลค่ารวมกัน ครบทุก 200,000 บาท ในรอบระยะเวลา 1 วัน หรือ การปรับเพิ่มวงเงินการทำธุรกรรมโอนเงินต่อวัน ให้สามารถได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ใช้บริการมีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (face comparison) เช่น เป็นคนพิการทางสายตา สถาบันการเงินอาจพิจารณางดเว้นการยืนยันตัวตนเพิ่มเติมตามที่กำหนดข้างต้นได้ โดยต้องมีแนวทางลดความเสี่ยงทดแทน หรือกรณีการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างบัญชีตนเอง การทำธุรกรรมโอนเงินประจำ อัตโนมัติ (automatic recurring transfer) ที่ได้ยืนยันตัวตนไปแล้วในครั้งแรก สถาบันการเงินอาจพิจารณางดเว้นการยืนยันตัวตนเพิ่มเติมตามที่กำหนดข้างต้นได้

กำหนดเพดานวงเงินสูงสุดต่อวันสำหรับธุรกรรมถอนเงินหรือโอนเงินผ่านบริการ Mobile Banking ให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการ เพื่อลดความเสียหายเมื่อผู้ใช้บริการตกเป็นเหยื่อ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริต เช่น กรณีกลุ่มผู้ใช้บริการที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ให้กำหนดวงเงินสูงสุดของการทำธุรกรรมถอนหรือโอนเงินรวมกันไม่เกิน 50,000 บาทต่อวัน เป็นต้น

ทั้งนี้ วันเริ่มต้นบังคับใช้ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

อ่านรายละเอียดฉบับเต็มที่นี่ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ๔/๒๕๖๘ เรื่อง การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการให้บริการทางการเงินและการชำระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ สำหรับสถาบันการเงิน

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา