พาณิชย์ โต้กลับเร็ว เปิดแนวทางเจรจา รับมือทรัมป์ป่วนโลก ขอโควตาพิเศษช่วยไทย

2025-02-12 IDOPRESS

พาณิชย์ โต้กลับเร็ว เปิดแนวทางเจรจา รับมือทรัมป์ป่วนโลก พร้อมถกสหรัฐ ขอโควตาพิเศษไทย ส่งออกเหล็ก-อะลูมิเนียม จับกลุ่มอาเซียน รวมหัวสู้อเมริกา เตรียมรับมือนำเข้าสินค้าเกษตรแก้ขาดดุล ด้านไทยขอคืน ปลดพีดับเบิลยูแอล-ต่อจีพีเอส

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลัง นายกรัฐมตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้ากับสหรัฐ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินติดตามนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐ อย่างใกล้ชิด โดยเฝ้าระวังปริมาณการนำเข้าและส่งออก สำหรับเตรียมพร้อมและรับมือกับนโยบาย มาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ของสหรัฐ เพื่อให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

“คณะทำงานจะทำหน้าที่ศึกษา จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลยุทธ์การเจรจากับรัฐบาลสหรัฐ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการค้าและการลงทุนของสหรัฐ เพื่อนำไปสู่การเจรจาการค้าต่างตอบแทนกับคณะผู้บริหาระดับสูงของสหรัฐ ในโอกาสต่อไป”

ทั้งนี้ เชื่อว่าในการเจรจาการค้ากับสหรัฐ ทางสหรัฐต้องการลดการขาดดุลกับไทย จึงอาจเรียกร้องให้ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งไทยพยายามเจรจาต่อรองกับสหรัฐ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อเกษตรกรและตลาดในประเทศให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกัน ไทยขอให้สหรัฐปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (ดับเบิลยูแอล) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา และเร่งต่ออายุการให้สิทธิจีเอสพี ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 63 ให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งทางสหรัฐ จะเปิดทางให้ประเทศอื่น ๆ เจรจาทางการค้ากับสหรัฐ เพื่อลดการสูญเสียของสหรัฐ จากการดำเนินนโยบายขึ้นภาษีได้ด้วย

ขณะเดียวกัน ไทยจะเน้นรักษาตลาดเดิมกับสหรัฐ ด้วยนโยบาย รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออกและเพิ่มความหลากหลายของแหล่งนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ตลาดจีนตอนใต้ อินเดีย และตะวันออกกลาง ควบคู่ไปกัปกับการเร่งรัดการเจรจาเอฟทีเอฉบับใหม่

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า กรณีสหรัฐอเมริกา เตรียมเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก-อะลูมิเนียมนั้น ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์คงต้องวิเคราะห์ผลกระทบอย่างละเอียด ทั้งในด้านโครงสร้างต้นทุนรายสินค้า การประเมินความสามารถในการแข่งขันหลังการปรับภาษี และการวิเคราะห์ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งอัตราภาษีปัจจุบัน การเปรียบเทียบโครงสร้างภาษีกับประเทศคู่แข่ง

สำหรับสถิติการส่งออกสินค้าเหล็ก และอะลูมิเนียมของไทยไปสหรัฐ ในปี 67 ไทยส่งออกกลุ่มเหล็ก เหล็กกล้าไปสหรัฐ ทั้งสิ้น 1,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 19.34% โดยสหรัฐ มีสัดส่วน 18.16% ของการส่งออกเหล็กทั้งโลก ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมไปสหรัฐ มีทั้งสิ้น 437 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 74.19% โดยสหรัฐ มีสัดส่วน 13.29% ของการส่งออกทั้งโลก

ทั้งนี้ ไทยคงต้องมุ่งเจรจาการขอโควตาพิเศษสำหรับสินค้าสำคัญ และการกำหนดเงื่อนไขพิเศษสำหรับสินค้าบางประเภท พร้อมทั้งวางแผนทยอยขึ้นภาษีให้สอดคล้องกับระยะเวลาปรับตัวของอุตสาหกรรม และสร้างกลไกชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน จะต้องผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยให้อาเชียนกำหนดท่าที และมาตรการรับมือร่วมกัน เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน จึงควรรวมกลุ่มเพื่อช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง และสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาค

“คงต้องปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ให้ยืดหยุ่นและพึ่งพาตลาดสหรัฐน้อยลง ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา แต่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละตลาด”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา