AOT แจง ยังไม่แก้สัญญาสัมปทานกับกลุ่ม “คิง เพาเวอร์”

2025-02-18 HaiPress

AOT แจง ยังไม่แก้สัญญาสัมปทานกับกลุ่ม "คิง เพาเวอร์" ยัน ดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง

รายงานข่าวจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT แจ้งว่า ตามที่ปรากฏหัวข้อข่าวในหนังสือพิมพ์รายวัน “ข่าวหุ้นธุรกิจ” เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 68 ว่า “คิงเพาเวอร์เผชิญสภาพคล่องตกต่ำ จับตาอาจต้องแก้สัญญาเพิ่ม” นั้น AOT ขอเรียนชี้แจงว่า AOT มิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จากกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัด

โดย AOT ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้

1. สารสนเทศดังกล่าวได้ระบุถึง ความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของ AOT โดย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุว่า ปัญหาสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ อาจมีผลกระทบต่อรายได้ของ AOT หากสถานการณ์นี้ยังยืดเยื้อ ซึ่งอาจนําไปสู่การเจรจาปรับเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อตกลงสัมปทาน

โดยเฉพาะในเรื่องค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee)ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของ AOT จากการสัมปทานดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันรายได้จากสัมปทานมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 33 ของรายได้รวมที่ AOT คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ 2568 และยังเป็นแหล่งกําไรหลักของ AOTหากมีการปรับเงื่อนไขสัมปทานจริง อาจส่งผลกระทบต่อประมาณการกําไรของ AOT ในด้านการลงทุน

CGSI มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่แน่นอน ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลจากนักลงทุน โดยคาดว่าราคาหุ้นของ AOT อาจได้รับแรงกดดันในเชิงลบในระยะสั้น เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จํากัด (มหาชน) หรือ KS ระบุว่า AOT กําลังเผชิญกับปัญหาลูกหนี้การค้าที่เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้รับสัมปทานขอเลื่อนการชําระเงินออกไปอีก 18 เดือน โดยระหว่างนี้ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราประมาณร้อยละ 18 ต่อเดือน

2. AOT ขอชี้แจงว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) มีหนังสือถึง AOT ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์เลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.)

โดยระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในหลายประเทศตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย รวมถึง KPD ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลได้ออกข้อกำหนดในการจำกัดและควบคุมการเดินทางอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงอย่างมาก ทำให้ KPD ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามสัญญาได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ KPD ประสบปัญหาสถานการณ์โควิด-19 นั้น KPD ก็พยายามประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินการต่อเพื่อให้ธุรกิจรวมถึงพนักงานทุกคนสามารถอยู่รอดในสภาวะที่ยากลำบากนี้ อันเกิดจากการที่ร้านค้าจำหน่ายสินค้าปลอดอากรต้องปิดร้านค้าชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐบาลอันเนื่องมาจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 และเป็นเหตุให้พนักงานขายต้องขาดรายได้หลัก และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพอย่างมาก แต่ด้วยความอนุเคราะห์ของ AOT ที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ในสนามบิน โดยการให้ผู้ประกอบการฯ เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้

จากการที่ KPD ได้รับมาตรการการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนจาก AOT KPD จึงสามารถดูแลและเยียวยาพนักงานของ KPD ได้จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่ KPD ยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และไม่สามารถฟื้นคืนธุรกิจได้อย่างเต็มที่ตามที่เคยประเมินไว้ รวมถึงความจําเป็นที่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อการปรับปรุง ก่อสร้าง ติดตั้งระบบต่าง ๆในอาคารผู้โดยสาร ทสภ.,ทภก. และ ทดม. เป็นผลให้KPD ประสบปัญหาสภาพคล่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานอกเหนือจากนั้น การที่สถาบันการเงินมีนโยบายไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม

รวมถึงการทยอยครบกำหนดชำระหนี้ต่าง ๆกับสถาบันการเงิน และค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ครบกำหนดชำระให้แก่ ทอท. (งวดปกติและงวดที่ถึงกำหนดชําระจากการเลื่อนชําระ) และการชําระค่าสินค้าที่ได้สั่งซื้อไว้กับ Supplier (ซึ่งเป็นหัวใจหลักเพื่อให้มีสินค้าไว้จําหน่าย)ทำให้สถานะทางการเงินของ KPD ที่มีภาระต้องชําระค่าภาระต่าง ๆ เกิดการกระจุกตัวในช่วงที่ผ่านมาเป็นจำนวนมากนอกจากนั้น จำนวนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ KPD ต้องชําระให้แก่ AOT นั้น คิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงจากการที่ประมาณการเติบโตของยอดใช้จ่ายของผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เนื่องจากประมาณการที่เติบโตฯดังกล่าวประเมินจากสถานการณ์ก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 เป็นผลให้สัดส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยอดขายสินค้าปลอดอากรต่อผู้โดยสารก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้โดยสารระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นและการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าปลอดอากรก็เติบโตน้อยลงกว่าที่ได้ประมาณการไว้ จากเหตุผลดังกล่าว เป็นเหตุให้รายได้ของ KPD ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และประสบกับปัญหาขาดทุน โดยในปี 2566 ขาดทุนถึงจำนวน 651,512,785 บาท ซึ่ง KPD ได้พยายามดำเนินการในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นแต่นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน KPD ก็ยังคงประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด จากข้อเท็จจริงดังกล่าว KPD จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอความอนุเคราะห์จาก AOT

ในการเลื่อนการชําระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำซึ่งครบกำหนดชําระตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2568 (รวม 12 งวด) ออกไปเป็นระยะเวลางวดละ 18 เดือน ซึ่งจะทำให้KPD มีระยะของช่องว่างทางการเงินที่เพียงพอกับการฟื้นฟูให้สภาพคล่องของ KPD กลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง รวมถึงการขอเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนนับแต่งวดชําระปลายเดือนสิงหาคม 2567 นั้น สืบเนื่องมาจากช่วงดังกล่าวเริ่มเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว (Peak Season) KPD คาดการณ์ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วง Peak Season

ดังนั้น KPD จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการสั่งซื้อสินค้ามาจําหน่ายเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ณ ทสภ. ทภก. และ ทดม. ในช่วงดังกล่าว และเพื่อให้สามารถผลักดันยอดรายได้จากฤดูกาลท่องเที่ยวที่กําลังจะมาถึงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ นอกจากนี้ การเลื่อนชําระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำดังกล่าวจะทำให้ KPD ไม่มีภาระเพิ่มเติมในช่วงระหว่างการเลื่อนชําระ และจะทำให้KPD สามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องในปัจจุบันตามที่กล่าวข้างต้นได้ โดย KPD คาดหวังว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นตามลำดับ และกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงปี 2569

ทั้งนี้ KPD ใคร่ขอเรียนว่าการขอเลื่อนการชําระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามที่กล่าวข้างต้นนั้น เกิดจากผลกระทบจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อมกันและต่อเนื่อง (ตามข้อเท็จจริงที่เรียนไว้ข้างต้น)อันเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ของสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ไม่คาดคิดและเป็นเหตุสุดวิสัยที่ KPD ไม่สามารถควบคุมได้จนส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (ถึงแม้สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับก็ตาม) ทำให้รายได้ของ KPD ไม่เป็นไปตามที่ KPD คาดการณ์ไว้ และนํามาสู่ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้


3. AOT ได้พิจารณาหนังสือดังกล่าวจาก KPD ตามข้อ 2 แล้ว และได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผลประกอบการตามสัญญา พบว่าสัดส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของ KPD อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าปลอดอากรต่อผู้โดยสารก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้จึงมีความเห็นว่า KPD ประสบปัญหาสภาพคล่องตามที่ได้ระบุในหนังสือฯ จริง และการดำเนินการดังกล่าวเป็นการแจ้งการผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขในสัญญา ซึ่งไม่เกิดความเสียหายแก่ AOT แต่เนื่องจากสัญญาได้ระบุค่าปรับผิดนัดชำระไว้ที่ร้อยละ 18


AOT จึงแจ้งต่อคู่สัญญา ตามหนังสือที่ ทอท.16818/2567 อนุญาตให้ KPD เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของเดือนกันยายน 2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ออกไปเป็นระยะเวลางวดละ 18 เดือน โดยไม่ยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับจากการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว

4. ที่ผ่านมา ในปี 2567 ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของ AOT ทั้ง 6 แห่ง เช่น กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากร (Duty Free)กลุ่มผู้ประกอบการรถเช่า สายการบินบางราย และบริษัทร่วม ต่างประสบปัญหาในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ดังระบุในข้อ 3 เป็นผลให้ในปี 2567 มีผู้ประกอบการกว่า 70 ราย ขอเลื่อนชำระ/ผ่อนชำระ ขอยกเลิกประกอบกิจการ ขอลดขนาดพื้นที่ จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการฯ สายการบิน หรือคู่ค้าอื่น ๆ ของ AOT ประสบปัญหาจากการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ AOT เช่น ผลประกอบการขาดทุน จนทำให้สภาพคล่องเพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายให้แก่ AOT ตามกำหนด

ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการฯ ของ AOT โดยเฉลี่ยมีการชำระผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำสูงกว่าอัตราส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) เกินกว่าร้อยละ 50 ในการนี้ผู้ประกอบการฯ บางส่วนจึงได้แสดงเจตนาพร้อมเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนเพื่อขอผ่อนชำระ ขยายระยะเวลาการชำระเงิน หรือปรับโครงสร้างการชำระเงิน

โดย AOT ได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อ AOT แล้ว พบว่าการอนุญาตให้ผู้ประกอบการฯ ปรับโครงสร้างการชำระเงินจะเป็นประโยชน์กับ AOT มากกว่าการไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการฯ ดำเนินการตามที่ร้องขอ รวมทั้งดีกว่าการยกเลิกสัญญาและทำการประมูลใหม่ เนื่องจากอาจทำให้ AOT ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนต่ำกว่าที่เคยได้รับอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ผ่านมา AOT จะเรียกเก็บค่าปรับจากการผิดนัดชำระที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญาในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราค่าปรับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเบี้ยปรับของรัฐวิสาหกิจอื่นและสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ

5. ดังนั้น เพื่อให้ AOT ยังสามารถรักษาผู้ประกอบการฯ และสายการบินที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์สงครามในยูเครนและอิสราเอล ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทอท. จึงได้จัดทำโครงการขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ประกอบการฯ และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของ AOT ทั้ง 6 แห่ง ที่เผชิญสภาพคล่องตกต่ำ เสนอคณะกรรมการ AOT ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ ดังกล่าว โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

5.1.1 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินจะต้องมีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ล่วงหน้าก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญา พร้อมทั้งต้องแสดงเหตุผลของการขาดสภาพคล่องให้ ทอท. พิจารณาภายในวันที่ 30 กันยายน 2568

5.1.2 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินที่ขอเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีหลักประกันสัญญา และวงเงินของหลักประกันสัญญาต้องครอบคลุมเงินต้นรวมกับค่าปรับจากการผิดนัดชำระในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี

5.1.3 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินจะสามารถเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน หรือค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) โดยระยะเวลาที่ขอเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระงวดสุดท้ายจะต้องสิ้นสุดไม่เกินอายุสัญญาและไม่เกิน 24 เดือน นับถัดจากเดือนที่ ทอท.มีมติอนุมัติโครงการฯ (มกราคม 2570)

5.1.4 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินต้องชำระดอกเบี้ยของยอดเงินที่ขอเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระทุกเดือน ตามอัตราที่ AOT กำหนด โดยอัตราดอกเบี้ย (ร้อยละต่อปี) คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate : MLR) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน),ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน),ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบวกเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อปี

ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าต้นทุนทางการเงิน (Weighted Average Cost of Capital : WACC) ของ AOT โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย MLR และ WACC ณ วันที่ผู้ประกอบการฯ และสายการบินแต่ละรายได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ AOT อนุมัติเป็นต้นไปโดยไม่มีผลย้อนหลัง (ผู้ประกอบการฯ และสายการบินที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องชำระดอกเบี้ยให้ AOT ทุกเดือน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ซึ่งโดยปกติแล้ว ทอท.จะเรียกเก็บดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระพร้อมกับเงินต้นในคราวเดียวกัน)

5.1.5 ในกรณีที่ผู้ประกอบการฯ และสายการบินผิดนัดชำระเงินของโครงการฯ งวดใดงวดหนึ่งหรือมีหนี้สินเกิดขึ้นใหม่ ให้ถือว่าสิทธิตามโครงการนี้สิ้นสุดลงทันที และ AOT จะดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาต่อไป

5.1.6 AOT ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาตามความเหมาะสมและยกเลิกโครงการฯ ได้และให้ผลการพิจารณาของ AOT ถือเป็นที่สุดจากการชี้แจงดังกล่าว AOT ขอยืนยันว่า AOT มิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ จากกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง โดย ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัด

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา