2025-02-18
HaiPress
ชาวไร่ยาสูบเฮ ราคาตลาดโลกพุ่งไม่หยุด การยาสูบประกาศขยายเวลา รับซื้อ แบบไม่อั้น พร้อมอัปราคาขึ้น 10% ปรับโมเดลลุยส่งออก ทดแทนตลาดบุหรี่ในประเทศแย่โดนของเถื่อน ไฟฟ้าแย่งตลาด ขายลดลง 10%
นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ปีนี้แนวโน้มราคาใบยาสูบตลาดโลก ยังมีราคาสูงขึ้น และมีความต้องการเพิ่มต่อเนื่องประกอบกับที่ผ่านมาชาวไร่ในประเทศเผชิญปัญหาน้ำท่วม ทำให้การยาสูบฯ ขยายระยะเวลารับซื้อใบยา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยใบยาสูบพันธุ์เวอร์ยิเนีย รุ่นต้นฤดูขยายเวลาจากเดิมสิ้นสุด 15 ก.พ.68 เป็น 28 ก.พ.68 และพันธุ์เบอร์เลย์ รุ่นกลางฤดูจากสิ้นสุด 11 เม.ย.68 ขยายเป็น 30 เม.ย.68 ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายได้ราคาสูงขึ้นจากปกติ กก.ละ 2-3 บาท พร้อมกันนี้ ยังเพิ่มการรับซื้อใบยาพันธุ์เบอร์เลย์ และเตอร์กีซแบบไม่อั้น โดยเฉพาะในส่วนทีเกินโควตา จะเพิ่มราคาให้อีก 10%
“ผลจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก ทำให้ผลผลิตใบยาปรับลดลงทั้งแถบแอฟริกา และลาตินอเมริกา สวนทางความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การยาสูบฯ จึงปรับโมเดลธุรกิจหันไปรุกส่งออกใบยาสูบทดแทนยอดขายบุหรี่ในประเทศที่ลดลงโดยมีการส่งออกใบยาเพื่อดูแลสต๊อกผ่านโบรกเกอร์ไปยังแอฟริกา ตะวันออกลางและสหรัฐอเมริกา พร้อมกับเปิดรับซื้อใบยาแบบไม่อั้น ซึ่งขณะนี้ราคาใบยาสูบเพิ่มขึ้นมาก อย่างเบอร์เลย์ ราคากก.ละ 70 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 78 บาทต่อกก. ขณะที่เตอร์กีซ กก.ละ 100-110 บาท เพิ่มเป็น 120 บาทและเวอร์ยิเนียเพิ่มจาก 85 บาท เป็น 95 บาท จึงหวังว่าจะมีชาวไร่หันกลับมาปลูกใบยาสูบเพิ่ม หลังจากที่ผ่านมาชาวไร่ปลูกยาสูบลดลงจาก 40,000-50,000 ราย เหลือ 20,000 ราย”
นอกจากนี้ ยสท. ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ลูกอมนิโคตินสำหรับคนอยากเลิกบุหรี่ รวมถึงน้ำหอมที่มีสารสกัดจากใบยาสูบ ที่เริ่มทดลองขายแล้วที่ตะวันออกกลาง ซึ่งจากการปรับโมเดลธุรกิจ ทำให้การยาสูบมีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 67 กลับมาอยู่ที่ 700 กว่าล้านบาท เพิ่มจาก 2 ปีก่อนหน้านี้ที่มีกำไรอยู่ 100-200 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนปี 68 การยาสูบ ตั้งใจรักษาสัดส่วนกำไรให้อยู่ที่ไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาทแต่จะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทหรือไม่ยัง เชื่อว่ายังเป็นไปได้ยาก
นายภูมิจิตต์ กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์จำหน่ายบุหรี่ในประเทศ ยังมียอดขายลดลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการปฏิรูปโครงสร้างบุหรี่ในปี 60 ทำให้บุหรี่ในประเทศราคาสูงขึ้นสวนทางกับบุหรี่เถื่อนที่ลักลอบเข้ามาขายในประเทศ ที่เติบโตเยอะเพราะขายเพียงซองละ 25-30 บาท อีกทั้งปัจจุบันยังมีบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาได้รับความนิยมเพิ่มอีก ทำให้ยอดขายบุหรี่ของ ยสท. ลดลงจากช่วงที่ขายได้สูงสุดมี 3 หมื่นล้านมวนต่อปี ปัจจุบันปี 67 ลดเหลือ 11,700 ล้านมวน แต่ปี 68 ยสท. พยายามจะรักษาการผลิตไม่ให้ต่ำกว่าปีก่อนหน้า
“ตอนนี้แม้การยาสูบจะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเกิน 50% จากยอดรวมทั้งตลาด 20,000 ล้านมวน แต่ตลาดก็มีแนวโน้มลดลงทุกปีเฉลี่ย 10% ขณะที่เครื่องจักรของ ยสท.ที่ออกแบบไว้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30,000 ล้านมวนต่อปี แต่การผลิตบุหรี่ออกมาขายจริงมียอดอยู่ที่ประมาณ 11,700 ล้านมวน ดังนั้น หากต้องการให้ ยสท.มีกำไรได้มากกว่านี้ ก็อาจจะต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ ยสท.ประกอบธุรกิจรับจ้างผลิตบุหรี่ขายในประเทศได้ รวมทั้งเร่งรัดการส่งออกใบยาสูบและบุหรี่ออกไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่มีตลาดแรงงานไทย อาทิ เกาหลีใต้ รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น”