2025-02-18
IDOPRESS
สภาพัฒน์ รายงานเศรษฐกิจไทยปี 67 (GDP) ขยายตัว 2.5% ส่วนปี 68 คาดขยายตัว 2.8% จับตาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ เร่งหารือเจรจา หลังไทยเข้าข่ายติดอันดับ 10-11 แนะรัฐรับมือออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มในครึ่งปีหลัง
วันที่ 17 ก.พ. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 4 ปี 67 ขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ทั้งปี 67 จีดีพีไทย ขยายตัวได้ 2.5% เร่งขึ้นจากปี 66 ที่ขยายตัว 2% มาจากการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและภาครัฐ ขณะที่การลงทุนเอกชนลดลง 1.6% ส่วนมูลค่าส่งออกขยายตัว 5.8% โดยการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 67 ขยายตัว 10.6% ถือเป็นการส่งออกสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส
ทั้งนี้ มูลค่าจีดีพีไทยปี 67 รวมอยู่ที่ 18.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 17.95 ล้านล้านบาท ในปี 66 ส่วนรายได้ต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 264,607.7 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 256,345.4 บาทต่อคนต่อปี ในปี 66 ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 0.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของจีดีพี
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 68 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 2.3-3.3% หรือค่ากลาง 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน 2.การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนและการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 3.การฟื้นตัวต่อเนื่องภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง และ 4.การขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า
นอกจากนี้ในปี 68 คาดว่าการอุปโภคบริโภคขยายตัว 3.3% และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.2% ส่วนการส่งออกปี 68 ขยายตัว 3.5% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ช่วง 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของจีดีพี
ขณะที่ปัจจัยต้องติดตามสำคัญคือสงครามการค้า หลังจากสหรัฐประเทศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศ และล่าสุดขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในทุกประเทศ อัตรา 25% ทำให้ไทยต้องติดตามสถานการณ์ โดยภาครัฐและเอกชน ร่วมกันหารือเพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ที่จะเจรจาการค้ากับสหรัฐ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยอยู่ในข่ายที่จะถูกสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้า และไทยมีการเกินดุลการค้าสหรัฐ 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับ 10-11
ทั้งนี้ ต้องเร่งหาทางเจรจาเพื่อลดผลกระทบต่อสินค้าไทย ซึ่งหลังจากสหรัฐออกมาตรการมา มีประเทศจีนออกมาตอบโต้ และมีผู้นำ 4 ประเทศที่ไปพบ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อเจรจาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เจรจาเพื่อเพิ่มโอกาสช่องทางการลงทุนนำเข้าสินค้าเพิ่ม และอินเดีย เจรจาข้อตกลงการค้า ความร่วมมือด้านความมั่นคง เป็นต้น
นอกจากนี้ไทยต้องเฝ้าระวังปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง แม้จะลดลง แต่หนี้ด้อยคุณภาพ หรือ NPL เพิ่มขึ้น จากที่อยู่อาศัย ยานยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งหนี้ NPL ของเอสเอ็มอี
นายดนุชา กล่าวว่า คาดการณ์จีดีพีไทยปี 68 ที่ 2.8% ได้นับรวมการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เข้าไปแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนการค้าโลก มาตรการกีดกันการค้าที่อาจเกิดขึ้นตามมา ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะครึ่งปีหลังปี 68 ซึ่งหากเป้าหมายรัฐบาล ให้จีดีพีเกิดการขยายตัวได้ 3-3.5% ต้องใช้มาตรการต่างๆ เข้ามาเสริมมากขึ้น เรื่องของการลงทุน การบริโภคต่างๆ เช่น กระตุ้นลงทุนภาคเอกชน และกระจายเงินลงทุนภาครัฐ อาจทำแพ็กเกจลงทุนเพิ่มเติม ในส่วนการลงทุนภาครัฐ เช่น บริหารจัดการน้ำให้เกิดปัจจัยการผลิตในระยะยาว ในชุมชนต่างๆ
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะใช้นั้นต้องดูเวลาที่เหมาะสม และเงินที่มีอยู่ในมือที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้เงินที่มีในงบประมาณ สามารถใช้กระตุ้นได้มี 157,000 ล้านบาท หลังจากได้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และผู้สูงอายุในโครงการเงิน 10,000 บาท คาดว่า ครึ่งปีหลัง การบริหารเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องบริหารจัดการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา โดยภาครัฐต้องเพิ่มการลงทุนใช้เงินจากที่มีอยู่ส่วนหนึ่งในครึ่งปีหลัง ลงทุนบริหารจัดการน้ำ พิจารณาทำโครงการไม่ใหญ่ 5-10 ล้านบาท ให้เงินกระจายไปพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ถ้าลงทุนน้ำในชุมชน จะเป็นฐานการผลิตในชุมชน แก้ปัญหาน้ำท่วม”
อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะใช้เงินจากไหน อยู่ที่รัฐบาลว่ามีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจเรื่องอะไรบ้าง โดยต้องมาดูรายละเอียดอีกครั้ง มาตรการที่ภาครัฐออกมาจะมีเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูกันอยู่ว่ามีมาตรการอะไรบ้าง ที่จะช่วยลดกระทบจากสงครามการค้าในครึ่งปีหลัง และจะทำให้จีดีพีไทยขยายตัวถึง 3% หรือไม่นั้น คงต้องดูจากส่วนอื่นด้วย