นายกฯขอ ‘แบงก์ชาติ’ลดดอกเบี้ย ช่วยประชาชน หลังเงินเฟ้อน้อย

2025-02-20 HaiPress

‘นายกฯ อิ๊งค์’ อัดยาแรงดึงลงทุน ตปท. กระตุ้นเพิ่มจีดีพี หลัง ศก. ฝืดเอสเอ็มอีไม่โต ขอธนาคารปล่อยกู้ลงทุน เหตุงบรัฐไม่เพียงพอ เพดานกู้ไม่เหลือ วอน ‘แบงก์ชาติ’ ลดดอกเบี้ยช่วย ปชช. บอกเงินเฟ้อยังน้อย เร่งแก้หนี้ครัวเรือนให้จบปลาย มี.ค. นี้

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 19 ก.พ. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เชื่อมั่นประเทศไทย” ในงานสัมมนา Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย ที่สำนักพิมพ์มติชนจัดขึ้น เมื่อมาถึง นายกฯ ได้เยี่ยมชมบูธจำหน่ายหนังสือของมติชน พร้อมอุดหนุนหนังสือประชุมลับกับธงทอง ของนายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และหนังสือนิทานการเงิน โดยนายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่ง ว่า เป็นโอกาสอันดีที่ได้มาเล่าให้ประชาชนฟังว่า เรากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ประเทศของเราผ่านอะไรมาบ้าง และเจออะไรมาบ้าง ต่างประเทศมองเราอย่างไร และเรามีแผนอะไรต่อไปในอนาคต ตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ มากมาย เศรษฐกิจยังไม่มีเงินในระบบ ยังฝืดเคือง แต่มีสัญญาณที่ดีมาในปลายปีที่แล้ว เรามีเศรษฐกิจ มีตัวเลขจีดีพีปี 2567 ขยายตัวขึ้น 2.5% มากกว่าเป้าที่วางไว้ที่ 2% จากปี 2566 การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกิดผล การบริโภคภายในขยายตัว ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากมาตรการฟรีวีซ่า และความเชื่อมั่นในการดูแลนักท่องเที่ยว และในปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้จีดีพีเติบโตขึ้นที่ 3% โดยที่แรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

นายกฯ กล่าวต่อว่า แต่การนำตัวเลขเศรษฐกิจไทยเทียบกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ว่ามีตัวเลขที่ต่ำที่สุด มองว่ายังดูปัจจัยไม่ครบทั้งภายในภายนอก เช่น ประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ของไทยไม่ได้มีการพัฒนามาหลายปี สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจหลายอย่างไม่เพียงพอ ธนาคารยังปล่อยกู้ไม่มากพอ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ส่งผลให้เกิดการฝืดด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มเอ ที่ถือเป็น 75% ของประเทศ หากกลุ่มนี้ยังไม่มีสินเชื่อมาพัฒนาเศรษฐกิจของเขา ก็จะยังไม่มีการพัฒนาและขยายตัว ก็ต้องขอความช่วยเหลือช่วยกันทุกภาค

นายกฯ กล่าวอีกว่า งบประมาณของรัฐยังไม่เพียงพอ และจะถูกใช้ไปกับรายจ่ายประจำ ตนบอกทุกคนว่าให้รัดเข็มขัด ในเรื่องของงบประมาณ แต่เราต้องทำเรื่องการลงทุนควบคู่ไปด้วย ทำให้เม็ดเงินต่างๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นสิ่งที่ต้องจัดการให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาในอนาคต และวันนี้เพดานกู้แทบไม่เหลือ รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศเจอปัญหาเหล่านี้ แต่พยายามหาทางออกในมุมต่างๆ ยังไม่ได้ทำการตลาดจุดแข็งของประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ พอการลงทุนจากต่างชาติหรือเม็ดเงินจากต่างประเทศไม่เข้า การขยับเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้เวลา ตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ก็พยายามดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เสนอการทำตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้ยอดการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 35% หรือประมาณ 1.14 ล้านๆ บาท คิดเป็น 5% ของจีดีพี เป็นสิ่งที่ขยับและเห็นผล โดยจะเร่งให้เม็ดเงินเหล่านี้เข้าสู่ระบบ รวมถึงมีมาตรการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี การดึงอุตสาหกรรมใหม่เข้าประเทศ การสร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยว

นายกฯ กล่าวด้วยว่า มาตรการเร่งด่วน รัฐบาลได้พูดคุยและอยากจะขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่มีกำไร เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องด้วยการปล่อยกู้ให้กับคนไทยให้มีสภาพคล่องให้การพัฒนาธุรกิจของตัวเอง และอีกเรื่องคือขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาลดดอกเบี้ย เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้ เพราะเงินเฟ้อยังน้อยอยู่

นายกฯ กล่าวอีกว่ารัฐบาลมีมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินต่างๆ ออกมา เช่น หนี้สินครัวเรือนรัฐบาล ได้ทำโครงการ “คุณสู้เราช่วย” มุ่งช่วยเหลือหนี้สินเชื่อบ้าน รถยนต์ และธุรกิจเอสเอ็มอี ตัวเลขสำหรับการแก้หนี้ครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา มีการยกหนี้รายย่อยไปแล้วกว่า 8.3 แสนบัญชี ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้หลุดออกจากการติดเครดิตบูโร สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกครั้ง ตนก็สานต่อเรื่องนี้ มีกลุ่มลูกหนี้ค้างอยู่ 2.6 แสนบัญชี จะทำให้จบในวันที่ 15 มี.ค. นี้ และยังขอให้กระทรวงการคลัง หารือกับ ธปท. พัฒนาโครงการคุณสู้เราช่วย ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มลูกหนี้ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งมาตรการน่าจะออกมาปลายเดือน มี.ค. นี้

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา